การสอบเทียบพีเอชมิเตอร์สำหรับห้องปฏิบัติการ ตอนที่ 1
pH meter เป็นเครื่องมือวัดขั้นพื้นฐานที่มีใช้อยู่ในห้องปฏิบัติการ การสอบเทียบเป็นสิ่งหนึ่งที่จำเป็นมากหากไม่มีการสอบเทียบที่ถูกต้องแล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าค่าที่อ่านได้จากการวัดเป็นค่าที่ถูกต้อง
พีเอชมิเตอร์ เป็นเครื่องมือวัดขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการควบคุมคุณภาพในงานด้านต่างๆ เช่น การควบคุมคุณภาพในกระบวนการผลิต วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ ควบคุมการเกิดปฏิกิริยาเคมีในการวิเคราะห์ทดสอบทางเคมี รวมทั้งการควบคุมคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการประกันคุณภาพห้องปฏิบัติการเพื่อให้ผลการวิเคราะห์ทดสอบมีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับในระดับสากล การสอบเทียบเครื่องมือวัดที่มีผลกระทบต่อผลการวัดโดยตรงจึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญในกระบวนการประกันคุณภาพ เครื่องมือวัดที่ใช้ในกระบวนการวิเคราะห์ทดสอบเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความแม่น ความเที่ยง และความน่าเชื่อถือของผลการวัด ดังนั้นเครื่องมือวัดที่ใช้จำเป็นต้องมีการสอบเทียบในเวลาเหมาะสม เพื่อให้ค่าที่วัดได้มีความถูกต้องตลอดเวลา นอกจากนี้ยังต้องจัดทำโปรแกรมการสอบเทียบ หรือทวนสอบในระยะเวลาที่เหมาะสม ห้องปฏิบัติการที่ต้องการขอการรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล จำเป็นต้องใช้เครื่องมือวัดที่ผ่านการสอบเทียบซึ่งเป็นข้อกำหนด ISO/IEC 17025/1999/มอก.17025-2543 ข้อ 5.5 เครื่องมือวัด และข้อ 5.6 ความสอบกลับได้ของการวัด และข้อกำหนดในระบบคุณภาพ ISO 9002 ข้อ 4.11 การควบคุมเครื่องตรวจ เครื่องวัด และเครื่องทดสอบ
สิ่งที่จำเป็นสำหรับการสอบเทียบพีเอชมิเตอร์ คือ ผู้ที่ทำหน้าที่สอบเทียบพีเอชมิเตอร์ ต้องมีความรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบและหลักการทำงานของเครื่องมือสามารถใช้เครื่องมือได้ถูกต้อง มีความรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบของการสอบเทียบ มีวิธีการสอบเทียบที่เป็นมาตรฐาน สามารถจัดหาเครื่องมือที่ใช้เป็นมาตรฐานการวัด จัดสภาพแวดล้อมของห้องสอบเทียบให้เหมาะสม และควรมีความรู้เรื่องการประเมินค่าความไม่แน่นอนของการวัด
พีเอชเป็นค่าที่แสดงความเป็นกรด-เบสของสารละลาย วัดโดยวิธี Potentiometic Method ใช้หลักการวัดค่าความต่างศักย์ที่เกิดขึ้นที่ผิวของอิเล็กโทรดชนิดที่สามารถตอบสนองต่อไฮโดรเจนไอออน โดยวัดเปรียบเทียบกับอิเล็กโทรดอ้างอิงที่มีศักย์ไฟฟ้าคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณไฮโดรเจนไอออนในสารละลาย และคำนวณเป็นค่าพีเอชโดยสมการของเนินสต์ ซึ่งก่อนการวัดค่าพีเอชต้องทำการปรับตั้งพีเอชมิเตอร์ด้วยสารละลายบัฟเฟอร์มาตรฐานอย่างน้อย 2 ค่า
สำหรับองค์ประกอบของเครื่องมือ องค์ประกอบของการสอบเทียบและวิธีการสอบเทียบ จะนำเสนอในหัวข้อ การสอบเทียบพีเอชมิเตอร์สำหรับห้องปฏิบัติการ ตอนที่ 2 ต่อไป
ขอรับเอกสารหรือบทความอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ support@green-banyan.com